สาเหตุที่ทำให้แอร์บ้านพังไว กินไฟมาก

886 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สาเหตุที่ทำให้แอร์บ้านพังไว กินไฟมาก

สาเหตุที่ทำให้แอร์บ้านพังไว กินไฟมาก

แอร์อึด ถึกทน ประหยัดพลังงาน
ในสภาพอากาศร้อนอบอ้าวและฝุ่นมลพิษนอกบ้าน เป็นเหตุให้หลาย ๆ บ้านจำเป็นต้องพึ่งพาความเย็นจากแอร์ เพราะแค่เพียงกดปุ่มเปิดบนรีโมทคอนโทรล ก็สามารถเปลี่ยนอากาศร้อนอบอ้าวให้กลายเป็นอากาศหนาวเย็นอยู่สบายได้โดยทันที โดยเฉลี่ยแอร์บ้านแต่ละเครื่องจะถูกเปิดใช้งานต่อเนื่องยาวนาน ประมาณ 8-14 ชั่วโมง/วัน การเลือกซื้อแอร์ที่ ถึก ทน พร้อมกับช่วยให้ประหยัดค่าไฟจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ใช้งานควรทราบ เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อ

สเปค BTU แอร์ ต่ำเกินการใช้งาน
BTU คือหน่วยวัดชนิดหนึ่งที่เป็นมาตรฐานหลักในการใช้ร่วมกับแอร์ BTU ยิ่งตัวเลขมาก ยิ่งมีศักยภาพในการทำความเย็นมากขึ้น แต่การเลือก BTU นั้น จำเป็นต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ใช้งานเป็นหลักครับ เช่น ห้องขนาดเล็ก 4×3.5 เมตร หรือ 14 ตร.ม. เลือกแอร์ที่มี BTU ประมาณ 12,000 Btu/h ก็เพียงพอ แต่หากห้องใหญ่ 8×4 เมตร หรือ 32 ตร.ม. จำเป็นต้องเลือกแอร์ที่มี Btu/h สูงขึ้น มิเช่นนั้นจะส่งผลให้แอร์ทำงานหนัก ไม่สามารถกระจายความเย็นได้ทั่วทั้งห้องและเป็นต้นเหตุสำคัญให้เปลืองค่าไฟรวมทั้งแอร์พังไวกว่าปกติด้วยครับ ขนาดห้องและ BTU แอร์ จึงจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กัน โดยอ้างอิงจากสูตร Btu/h = พื้นที่ใช้สอย x 750 – 1,200  (โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่และลักษณะในการใช้งาน)

ตัวอย่าง คำนวณค่า Btu/h
ห้องนั่งเล่นทั่วไป กว้าง 5 x 6 เมตร ค่า BTU = (5×6) x 800 = 24,000 BTU

ท่อน้ำยาแอร์ยาวเกินไป
ระยะห่างระหว่างแอร์ภายในบ้าน กับคอมเพรสเซอร์แอร์ มีผลกับการทำความเย็นและอายุการใช้งานแอร์ครับ ยิ่งห่างมากความยาวของท่อยิ่งมาก นอกจากจะเสียค่าท่อมากขึ้นแล้ว คอมเพรสเซอร์แอร์ซึ่งทำหน้าที่อัดแรงดันน้ำยาแอร์ ต้องทำงานหนักขึ้นเพราะต้องเพิ่มแรงดัน ส่งผลให้แอร์เย็นช้าและทำงานหนัก เป็นต้นเหตุของการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ และในที่สุดคอมเพรสเซอร์แอร์จะเสื่อมสภาพไวกว่าปกติด้วย

ติดตั้งแอร์ใกล้ความชื้น
ตำแหน่งในการติดตั้งแอร์ที่ดี ไม่ควรอยู่ใกล้ที่ชื้น เนื่องด้วยแอร์มีหน้าที่หลักในการกำจัดความชื้นเพื่อก่อให้เกิดความเย็น หากแอร์อยู่ใกล้ความชื้นมาก ๆ เช่น ห้องน้ำ แหล่งน้ำ ย่อมส่งผลให้แอร์ทำงานหนักขึ้น เพราะต้องคอยกำจัดความชื้นตลอดเวลา และการติดตั้งควรเว้นระยะห่างระหว่างแอร์กับฝ้าเพดานประมาณ 15-20 cm เป็นระยะห่างที่เหมาะสม ซึ่งเว้นไว้เพื่อให้เครื่องสามารถดูดอากาศเข้าทางด้านบนและจ่ายลมออกมาทางด้านหน้านอกจากตำแหน่งในการติดตั้งแอร์แล้ว ห้องใด ๆ ที่ใช้แอร์ ควรออกแบบห้องให้มีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ห้องต้องไม่อับชื้น เพราะความชื้นรวมภายในห้อง ส่งผลให้แอร์ทำงานหนักเช่นกันครับ

คอมเพรสเซอร์แอร์วางผิดตำแหน่ง
โดยปกติคอมเพรสเซอร์แอร์หรือคอยล์ร้อนทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ มีการผลิตให้รองรับกับสภาพอากาศภายนอก ทนแดด ทนฝน อย่างไรก็ตามหากต้องการยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานยิ่งขึ้น ในขั้นตอนออกแบบบ้าน สถาปนิกควรออกแบบตำแหน่งติดตั้งคอมเพรสเซอร์แอร์โดยเฉพาะ โดยให้คอมเพรสเซอร์แอร์ห่างจากผนังบ้านประมาณ 10 cm และบริเวณหน้าคอมเพรสเซอร์ไม่ควรมีสิ่งใดมาบดบัง ประมาณ 60-80 cm จัดวางในตำแหน่งไม่โดนฝนสาดง่าย ไม่โดนแสงแดดโดยตรงตลอดทั้งวัน กรณีวางบนพื้นระเบียง ควรให้สูงกว่าพื้นประมาณ 10 cm เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง

ไฟตก ไฟกระชาก
ปัญหาไฟตก ไฟดับ ไฟกระชาก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งหากพื้นที่ไหนมีปัญหาก็จะมีปัญหาดังกล่าวซ้ำซากตลอดเวลา บ้านเก่าของผู้เขียนเช่นกันครับ เกิดปัญหาไฟตกบ่อยครั้ง เพียงแค่มีลมพัดแรง ๆ ก็ส่งผลให้ไฟตกได้แล้ว ปัญหาไฟตกจำเป็นต้องให้การไฟฟ้ามาแก้ปัญหา ส่วนผู้ใช้ทำได้เพียงป้องกันไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย ซึ่งหากเป็นแอร์รุ่นใหม่จากแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ จะมีแผงวงจรเพื่อป้องกันผลกระทบจากไฟกระชากแล้วครับ และบางรุ่นมีการพัฒนาไปถึง เมื่อเกิดไฟดับแอร์จะจดจำค่าต่าง ๆ ไว้ หลังจากไฟติดแอร์จะกลับมาทำงานต่อจากเดิมตามปกติ การเลือกซื้อแอร์ในแบรนด์ที่เชื่อถือได้ มีแผงวงจรการป้องกันและฟังก์ชันต่าง ๆ มารองรับ จึงเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการตัดสินใจซื้อ

ข้อมูลจาก https://www.banidea.com


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้